“ปราสาทนาคพัน กับตำนานม้าวิเศษ”

ปราสาทนาคพัน กับตำนานม้าวิเศษ


              หนึ่งในสิ่งจำแลงจากสถานที่ในจินตนาการแห่งความเชื่อทางศาสนา และตำนานที่ถูกเล่าขาน สถานที่ซึ่งอุดมด้วยสีสันจากศิลา พืชพรรณแห่งการเยียวยา และสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่หลั่งไหลทั้งสี่ทิศ ที่แห่งนี้คือหนึ่งในความงามของศิลปะเขมรในยุคโบราณ “ปราสาทนาคพัน”


 
(ที่มารูปภาพ : http://www.6gms.com/tour-cambodia.php)


ปราสาทนาคพัน เป็นปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่แห่งที่ 4 ทางเหนือของพระนครหลวง เพื่อใช้เป็นแหล่งรักษาโรค ชำระบาป และกระทำพิธีราชาภิเษก มีความกว้าง 984 หลา และยาว 3,827 หลา นาคพันนี้ประกอบด้วยสระกว้าง ตรงกลางสระยอดปราสาทตั้งตระหง่านขึ้นมาจากฐานทรงกลมคือนาคพัน โดยเชื่อว่านาคพันนี้ถูกสร้างขึ้นแบบพุทธผสมผสานกับพราหมณ์


ที่มาของชื่อปราสาทนาคพันนั้น มาจากการที่มีนาคศิลา 2 ตนขดเป็นวงล้อมรอบฐานปราสาท ซึ่งสถาปัตยกรรมของนาคพันนี้ถูกจำลองให้เป็น “สระอนวตัปตา” (Anavatapta) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สระอโนดาต” ที่เป็นสระน้ำแห่งความบริสุทธิ์ บ้างก็กล่าวว่าเป็นสระศักดิ์สิทธิ์แห่งภูเขาหิมาลัย บ้างก็กล่าวว่าเป็นหลังคาของโลกในนิยาย เนื่องจากสระนี้เป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำ 4 สายที่ไหลไปแต่ละทิศ เสมือนกับแม่น้ำ 4 สายของโลกนั่นเอง


(ที่มารูปภาพ : https://manunotti.wordpress.com/2014/05/14/นครวัด-เดย์ทู-ปราสาท-ปรา/ )


ภายในกลางสระที่ล้อมรอบปราสาทตรงทางขึ้นไปปรางค์ ได้ค้นพบร่องรอยประติมากรรมลอยตัว 4 รูป ได้แก่ ทางทิศใต้พบเศษศิลาซึ่งไม่แน่ชัด ทางทิศตะวันตกเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทางทิศเหนือเป็นรูปศิวลึงค์ และทางทิศตะวันออกเป็น “ม้าพลห หรือ พลาหะ” (Balaha) ม้าวิเศษนี้เป็นรูปจำแลงภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เมื่อครั้งพระองค์ทรงช่วยพวกเรือแตกจากนางยักษิณี เมื่อเห็นรูปม้าพลาหะแหวกว่ายไปยังตัวปราสาท ทำให้ผู้คนพลันเกิดความเชื่อที่ว่า ม้าวิเศษตัวนี้ได้เหาะพาผู้คนไปยังสรวงสวรรค์


ปราสาทนาคพันกลางสระน้ำโบราณนี้ยังเต็มไปด้วยความเชื่อทางศาสนาที่ได้รับอิทธิพลต่อมา และผสมผสานขึ้นจนเกิดเป็นโบราณสถานที่สวยงามพร้อมด้วยตำนานความเชื่อที่น่าอัศจรรย์ใจ เปรียบได้ดั่งคำกล่าวที่ว่า “เป็นกระจกเงาแห่งโชคลาภ” ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยสมุนไพรของการเยียวยารักษาโรค ซึ่งเป็นโชคลาภหนึ่งของชีวิตก็มิปาน




ที่มา

ญัน เมอร์ดาล. (2545). อังกอร์ ความเรียงว่าด้วยศิลปะและลัทธิจักรวรรดินิยม. แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ : เรือนปัญญา.
มาดแลน จิโต. (2552). ประวัติเมืองพระนครของขอม. แปลโดย สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ.. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : มติชน.
ล้อม เพ็งแก้ว และนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. (2555). เที่ยวปราสาทหิน ยลถิ่นกัมพูชา. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์. 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“พีระมิดเกาะแกร์ . . . พีระมิดยักษ์กลางพงไพร”

“ทวารบาล . . . ผู้รักษาประตู”