“รอยยิ้มปริศนา ณ บายน”

“รอยยิ้มปริศนา ณ บายน”


              ปราสาทในศิลปะเขมรที่พรั่งพร้อมด้วยความงามและความพิศวงนั้นมีด้วยกันหลายแห่ง แต่ปราสาทที่ถูกกล่าวถึงจากรูปสลักใบหน้าประดับด้วยรอยยิ้มที่เป็นปริศนา จนก่อให้เกิดงานเขียนทางวิชาการอย่างมากมายถึงปริศนาของรอยยิ้มนั้นจะมีสักกี่ที่กัน รอยยิ้มที่ถูกขนานนามว่า “ยิ้มแบบบายน” อันมีต้นกำเนิดมาจาก “ปราสาทบายน”


(ที่มารูปภาพ : gothailandgoasean.tourismthailand.org/th/ปราสาทบายน-ศิลปะขอมโบราณ-เชื่อมั่นในความสุข/)


ปราสาทบายน ณ นครธม สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่กลางเมืองพระนคร เป็นโบราณสถานแห่งเดียวของเขมรที่ไม่มีกำแพงล้อมรอบ คาดว่าอาจใช้กำแพงเมืองพระนครหลวงล้อมรอบแทน บายนเป็นปราสาทที่มีผังการก่อสร้างที่ชวนสับสน มึนงง และชวนให้อึดอัดไม่น้อย อันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขผังทางสถาปัตยกรรมหลายครั้งระหว่างการก่อสร้าง ทำให้ผังปราสาทไร้ระเบียบแบบแผน และปราสาททุกหลังมีหน้า 4 หน้าขนาดใหญ่สลักอยู่บนยอด


เสน่ห์ของภาพใบหน้าที่ประดับด้วยรอยยิ้มบนยอดปราสาทบายนนั้นมักจะเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาของผู้คนที่สุดเมื่อมาเยือนปราสาทแห่งนี้ และเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจได้อย่างน่ามหัศจรรย์ รอยยิ้มปริศนาที่มองมานั้นเสมือนกำลังจับจ้องอย่างรู้เท่าทันผู้คนไปทุกทิศ ซึ่งใบหน้าแต่ละปรางค์หันไปทั้ง 4 ทิศจ้องมองไปทั่วทุกทิศทางผ่านเปลือกตา แสดงความเมตตาประหนึ่งกำลังถูกโอบอุ้มไว้ด้วยรอยยิ้มนั้น แต่ก็เหมือนถูกตามหลอกหลอนเมื่อหันไปพบกับใบหน้าเหล่านั้นซ้ำ ๆ จากทุกสารทิศของ “เทพเจ้าแห่งพระนครหลวง”


(ที่มารูปภาพ : gothailandgoasean.tourismthailand.org/th/ปราสาทบายน-ศิลปะขอมโบราณ-เชื่อมั่นในความสุข/)


รอยยิ้มนั้นถูกคาดว่าเป็นของเทพเจ้าแห่งเมืองพระนครหลวงองค์นี้คือ “กษัตริย์เทวะ – ราชา” ในสมัยบายนพระองค์จะทรงปรากฏในรูปของพระพุทธเจ้า โดยได้ค้นพบรูปสลักจากเบื้องล่างของหลุมใต้ปราสาทองค์กลาง ปราสาทนี้มีลักษณะที่แสดงถึงพุทธศาสนา ทำให้แน่ชัดว่าเป็น “พระโลเกศวร” โดยใบหน้าเหล่านั้นแสดงถึง “พระราชอำนาจที่แผ่เมตตาไปทั่วจตุรทิศ” อันเป็นสัญลักษณ์ของการปกครอง อำนาจทางศาสนาไปในแต่ละหัวเมืองของราชอาณาจักรนั่นเอง


ใบหน้าที่ประดับรอยยิ้มนี้ถือเป็นจุดเด่นของปราสาทบายนที่ชวนให้ผู้พบเห็นหลงเสน่ห์ความงามที่แสนมหัศจรรย์นี้ แม้ว่าปราสาทในรูปแบบศิลปะเขมรจะมีมากมายแตกต่างกันไป แต่ในทุกที่ล้วนมีจุดเด่นที่ชวนให้หลงใหลแตกต่างกันไป รวมทั้งปราสาทบายนนี้ด้วยที่มีลักษณะเด่นจากใบหน้าประดับรอยยิ้มขนาดใหญ่บนยอดปราสาทที่ชวนมอง และผังปราสาทที่ชวนให้พิศวงไม่น้อย เพียงเท่านี้ก็ทำให้ปราสาทบายนเป็นที่แห่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การไปเยือนสักครั้งแล้ว




ที่มา

มาดแลน จิโต. (2552). ประวัติเมืองพระนครของขอม. แปลโดย สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ.. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : มติชน.
ยอร์ช เซเดส์. (2556). เมืองพระนคร นครวัด นครธม. แปลโดย ปรานี วงษ์เทศ. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ : ดรีม แคทเชอร์.
ล้อม เพ็งแก้ว และนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. (2555). เที่ยวปราสาทหิน ยลถิ่นกัมพูชา. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“พีระมิดเกาะแกร์ . . . พีระมิดยักษ์กลางพงไพร”

“ปราสาทนาคพัน กับตำนานม้าวิเศษ”

“ทวารบาล . . . ผู้รักษาประตู”